28 หน่วยงาน แก้เกมสินค้าทะลัก 7 เดือน ขาดดุลการค้าจีน 8 แสนล้าน

31 สิงหาคม 2567
28 หน่วยงาน แก้เกมสินค้าทะลัก 7 เดือน ขาดดุลการค้าจีน 8 แสนล้าน
ปัญหาการขาดดุลการค้าจีนที่ต่อเนื่องสะสมหลายปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดการค้าในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) ของปีนี้ ไทยยังคงขาดดุลการค้าให้จีน 878,556.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 171, 956 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ขาดดุล 706,600.01 ล้านบาท สะท้อนถึงปัญหาความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยตกต่ำอย่างมาก ซึ่งเป็นประเด็นที่ภาคเอกชน โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เคย “ส่งสัญญาณเตือนไว้ล่วงหน้า” ว่า สินค้าที่ผลิตส่วนเกินของจีนกำลังทะลักมายังอาเซียน โดยมีแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นเครื่องมือหนุนให้ไทยเสียเปรียบทางการค้ามากขึ้น

เฉพาะปลายปี 2566 มีกลุ่มอุตสาหกรรม 20 กลุ่ม จากทั้งหมด 46 กลุ่ม ใน ส.อ.ท. ประสบปัญหาแข่งขันไม่ได้ และมีจำนวนโรงงานไทยปิดตัวเฉลี่ย เดือนละ 111 โรงงาน โดยเฉพาะ “เหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร” ได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศอย่างมากกำลังขยายวงหนักขึ้น และจะรุนแรงขึ้นหากภาครัฐไม่กำหนดมาตรการช่วยเหลือ

การรุกคืบของ TEMU
กระทั่งล่าสุดการเปิดตัวแพลตฟอร์มน้องใหม่ “TEMU” ที่ใช้กลยุทธ์เชื่อมโยงกับโรงงานผลิตในจีนโดยตรง ทำให้สามารถหั่นราคาขายได้ต่ำกว่าแพลตฟอร์มอื่นทั่วไป ทั้งยังลดเวลาขนส่งถึงมือผู้บริโภคเร็วขึ้น รวมถึงรับเคลมสินค้า จนทำให้หลายหน่วยงานกังวลว่าสินค้าไทยจะแข่งขันไม่ได้ รุนแรงยิ่งขึ้น

ซึ่งในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ “นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ติดต่อไปยังผู้จดแจ้งบริษัท เพื่อขอให้เข้ามาหารือ เช่นเดียวกับ “นายนภินทร ศรีสรรพางค์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประสานไปยัง ผู้บริหาร TEMU ที่ตั้งสำนักงานอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์

เข้ามาเจรจากับรัฐบาลไทย พร้อมทั้งเตรียมใช้แรงกดดันของกฎหมายเพื่อบังคับให้ TEMU เข้ามาจดทะเบียนตั้งบริษัท และสำนักงานในประเทศไทย เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ ทั้ง “Lazada Shopee”

ขณะที่กระทรวงการคลังก็ออกมาตรการชั่วคราวเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับสินค้านำเข้าจากทุกประเทศ ทุกประเภท ที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดมาตรฐานบังคับ (มอก.) ครอบคลุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนแล้ว 144 มาตรฐาน และเตรียมประกาศมาตรฐานสินค้าควบคุมเพิ่มอีก 52 มาตรฐาน จากสินค้าที่มีการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีกว่า 1,000 รายการ เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ

“จะเห็นว่าการดำเนินการทั้งหมด ‘ไทยไม่ได้มีเจตนากีดกันการค้ากับจีน’ แต่เป้าหมายสำคัญของไทย คือ การดูแลภาคการผลิต ควบคู่ไปกับการดูแลผู้บริโภค เพื่อสร้างความสมดุลด้านการค้าโลก ให้เกิดการค้าเสรีอย่างเป็นธรรม จึงต้องวางกติกา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน ทั้งยังต้องดูแลประชาชนเพื่อให้ได้บริโภค-อุปโภคสินค้าที่มีคุณภาพ ถูกกฎหมาย เพื่อจะไม่สร้างความเสียหายให้กับประเทศ และเป็นไปตามกติกาสากล”

คลอด 5 มาตรการเร่งด่วน
“นายภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จึงได้เชิญ 28 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมแก้ปัญหาการนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานและราคาต่ำจากต่างประเทศ เป็นครั้งแรก โดยได้ตั้ง “ศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามสินค้าและธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมาย”

โดยกำหนด 5 มาตรการเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.มาตรการบังคับใช้ระเบียบ กฎหมาย เช่น การตรวจเข้มสินค้าทั้งในส่วนของการสำแดงพิกัดสินค้า การชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม การตรวจมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) การเพิ่มอัตราการเปิดตู้สินค้าจาก 20 ตู้ เป็น 35 ตู้ หรือทั้งหมดทุกตู้ การตรวจสอบผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการให้ปฏิบัติตามกฎหมายไทย

2.มาตรการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ ขณะนี้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) อยู่ระหว่างจัดทำประกาศ ให้ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มต่างประเทศ “ต้องจดทะเบียนนิติบุคคล โดยให้มีสำนักงานในไทย” ส่วนสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จะเพิ่มรายการสินค้าควบคุมภายใต้มาตรฐานบังคับ ครอบคลุมรายการสินค้าให้มากที่สุด ควบคู่ไปด้วย...

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/economy/news-1642294
แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.